|
จังหวัดพังงา |
พังงา เมืองสุดยอดความสวยงามของท้องทะเลที่มากด้วยหมู่เกาะน้อยใหญ่เรียงรายอยู่ท่ามกลางท้องทะเลอันดามัน ไม่เพียงแต่ท้องทะเลที่ขึ้นชื่อมาช้านานอย่างอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน หมู่เกาะสุรินทร์ อ่าวพังงา เมืองนี้ยัง อุดสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติมีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลาย ทั้งภูเขา น้ำตก ถ้ำ และที่เที่ยวที่มีคุณทาง ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เป็นเมืองที่สงบเรียบง่าย ตลอดสองข้างทางเต็มไปด้วยภูเขารูปรางแปลกตา มีต้นไม้เขียว ปกคลุมชุ่มชื่นเย็นสบาย จังหวัดพังงาจึงเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทาง ที่ไม่ควรพลาดมาเก็บสถานที่ท่องเที่ยวสุดฮอต ในจังหวัด |
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน |
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ |
เกาะพระทอง |
อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา |
อนุสรณ์สถานสึนามิ เรือ ต.813 |
|
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน |
หากกล่าวถึงที่สุดแห่งท้องทะเลไทย คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักเจ้ายุทธจักรแห่งท้องทะเลอย่างอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน กับภาพน้ำทะเลสีฟ้าใส หาดทรายขาวละเอียด และสีสันของโลกใต้น้ำที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยว ทั่วสารทิศให้ มาสัมผัสความงามแบบใกล้ชิด หมู่เกาะสิมิลัน เป็นหมู่เกาะในทะเลอันดามันมี 9 เกาะ เรียงจากเหนือมาใต้ คือ เกาะหูยง เกาะปายัง เกาะปาหยันเกาะเมี่ยง เกาะปายู เกาะหัวกะโหลกเกาะสิมิลัน และเกาะบางู หมู่เกาะสิมิลัน ได้รับการยกย่อง ว่าเป็นหมู่เกาะที่มีความสวยงามทั้งบนบกและใต้น้ำมีปะการังที่สวยงามหลายชนิด |
|
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ตั้งอยู่ภายในตำบลเกาะพระทอง มีพื้นที่ 80,000 ไร่ และได้ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2525 ส่วนชื่อของ "เกาะสิมิลัน" สิมิลันเป็นภาษายาวี หรือ มลายู แปลว่าเก้า หรือ หมู่เกาะเก้า เป็นหมู่เกาะเล็ก ๆ ในทะเลอันดามันมีทั้งหมด 9 เกาะ เรียงลำดับจากเหนือมาใต้ ได้แก่ เกาะหูยง, เกาะปายัง, เกาะปาหยัน, เกาะเมี่ยง (มี 2 เกาะติดกัน), เกาะปายู, เกาะหัวกะโหลก (เกาะบอน), เกาะสิมิลัน และเกาะบางู เป็นต้น ส่วนบริเวณที่ทำการอุทยานฯ อยู่ที่เกาะเมี่ยง เพราะเป็นเกาะที่มีน้ำจืด ส่วนเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายนเป็นช่วงที่น่าท่องเที่ยวมากที่สุด และเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายนเป็นฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ มีคลื่นลมแรง เป็นอันตรายต่อการเดินเรือ ทางอุทยานฯ จะมีการประกาศปิดเกาะในเดือนพฤษภาคมเพื่อเป็นการฟื้นฟูธรรมชาติทุกปี |
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ |
|
เป็นหมู่เกาะในทะเลอันดามันห่างจากฝั่งไปทางทิศตะวันตกประมาณ 70 กิโลเมตร เป็นหมู่เกาะที่อยู่ติดกับเขตชายแดนไทย-พม่า มีพื้นที่ประมาณ 84,375 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่บนบกประมาณ 20,594 ไร่ ประกอบด้วยเกาะสำคัญ 5 เกาะ คือ เกาะสุรินทร์เหนือ, เกาะสุรินทร์ใต้, เกาะไข่ (เกาะตอรินลา), เกาะกลาง (เกาะปาจุมบา) และเกาะรี (เกาะสต๊อก) เป็นหมู่เกาะที่มีแนวปะการังน้ำตื้นที่สมบูรณ์สวยงาม มีปลาสีสันต่าง ๆ มากมาย เป็นแหล่งเหมาะสำหรับชมปะการังน้ำตื้น โดยเฉพาะเกาะตอรินลาและเกาะปาจุมบา
สำหรับบริเวณที่เหมาะจะดำน้ำลึก คือ กองหินริเชลิว อยู่ห่างจากเกาะสุรินทร์ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ 10 กิโลเมตร เป็นแหล่งที่สมบูรณ์ด้วยธรรมชาติใต้ทะเล มีปลาหลายพันธุ์ ปะการังสีสวย และเป็นจุดที่มีโอกาสพบฉลามวาฬ ที่ได้ชื่อว่าเป็นยักษ์ใหญ่ใจดีแห่งท้องทะเลมาว่ายให้เห็นอยู่เสมอ ช่วงเวลาที่เหมาะจะเดินทางท่องเที่ยว คือ เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน ส่วนเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม เป็นช่วงที่มีลมมรสุม ฝนตกชุก คลื่นลมแรง
สถานที่น่าสนใจภายในเขตอุทยานฯ ได้แก่ เกาะสุรินทร์เหนือ และเกาะสุรินทร์ใต้ เป็นเกาะที่อยู่ติดกันโดยมีร่องน้ำคั่นกลาง มีอ่าวทั้งเล็กและใหญ่กระจายอยู่รอบเกาะ ทุกอ่าวมีความสวยงามของหาดทรายและน้ำทะเลแตกต่างกันไป เกาะสุรินทร์เหนือเป็นที่ตั้งหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว บ้านพัก ที่กางเต็นท์ และมีเรือหางยาวให้เช่าเที่ยวตามเกาะต่าง ๆ, อ่าวช่องขาด อยู่ทางใต้ของเกาะสุรินทร์เหนือ เป็นจุดสำหรับกางเต็นท์ หาดทรายขาวสะอาด เล่นน้ำได้ มีปะการังและฝูงปลา เช่น ปลานกแก้วสีสดใส และปลานกขุนทอง มาว่ายเวียนทักทายให้ดูอยู่เสมอ
อ่าวแม่ยาย อยู่ทางใต้ของเกาะสุรินทร์เหนือ เป็นอ่าวที่มีคลื่นลมสงบ และมีขนาดใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะสุรินทร์ มีปะการังน้ำตื้น, อ่าวไทรเอน อยู่ทางตะวันออกของเกาะสุรินทร์เหนือ เป็นอ่าวที่มีชาวเลหรือมอแกน ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่ยังคงมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมกินนอนอยู่ในเรืออาศัยอยู่, อ่าวลึก อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะสุรินทร์เหนือ มีปะการังน้ำตื้น สาหร่ายทะเล ดอกไม้ทะเล กัลปังหา ฝูงปลาการ์ตูน และฝูงปลาหลากชนิดสีสันสวยงาม, อ่าวจาก อยู่ทางทิศเหนือของเกาะสุรินทร์เหนือ มีหาดทรายขาวละเอียดสะอาด เป็นจุดดำน้ำตื้นที่มีแนวปะการังที่สวยงามสมบูรณ์
อ่าวไม้งาม อยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะสุรินทร์เหนือ ติดกับอ่าวที่ทำการฯ เป็นอ่าวใหญ่ ชายหาดยาวโค้ง มีแนวปะการังที่สวยงามและปลาหลากสีหลายพันธุ์ นอกจากนั้นยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่าวไม้งาม เดินผ่านป่าดงดิบเลียบชายหาด มีป้ายสื่อความหมาย ระยะทาง 2 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 1 ชั่วโมง จะพบพืชพรรณนานาชนิด สัตว์ป่าต่าง ๆ, อ่าวบอน อยู่ทางตะวันออกของเกาะสุรินทร์ใต้ เป็นที่อยู่ของชาวมอแกนหรือชาวเลอีกกลุ่มหนึ่ง, อ่าวเต่า อยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะสุรินทร์ใต้ มีเต่าทะเลอาศัยจำนวนมากบริเวณใกล้แนวปะการัง เป็นอ่าวที่เหมาะจะดำน้ำตื้น เพราะมีปะการังอ่อน และกัลปังหา
อ่าวผักกาด อยู่ทางทิศใต้ของเกาะสุรินทร์ใต้ เป็นจุดดำน้ำตื้นที่มีแนวปะการังเขากวาง เป็นอ่าวที่ดำน้ำได้ทั้งน้ำตื้นและน้ำลึก, อ่าวสุเทพ อยู่ทางเหนือของเกาะสุรินทร์ใต้ เป็นอ่าวที่มีปะการังสมบูรณ์ เหมาะสำหรับดำน้ำตื้น, เกาะปาจุมบา หรือเกาะกลาง อยู่ทางเหนือของเกาะสุรินทร์ใต้ เป็นเกาะที่มีหาดทรายขาวละเอียดสะอาด แนวปะการังสมบูรณ์ บริเวณนี้ยังพบปลากระเบนราหู ปลาหลากพันธุ์สีสวยงาม และกุ้งมังกรจำนวนมากซึ่งหาดูได้ยาก จนได้ชื่อว่า อ่าวมังกร และยังเป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล และเกาะไข่ หรือเกาะตอริลลา อยู่ทางใต้ของเกาะสุรินทร์ใต้ ด้านทิศตะวันออกของเกาะมีแนวปะการังยาวเหยียด ที่ยังคงความสวยงามสมบูรณ์เหมาะแก่การดำน้ำลึก
|
เกาะพระทอง |
|
เกาะพระทอง อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระ-เกาะพระทอง มีเกาะบริการที่อยู่ติดทะเลอันดามัน และมีเกาะขนาดเล็กต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ป่าชายเลนอีกถึง 37 เกาะ เกาะแห่งนี้ได้รับการตั้งสมญานามว่า เป็นซาฟารีกลางอันดามัน ด้วยลักษณะของเกาะที่มีพื้นที่ราบเป็นส่วนใหญ่ มีชายหาดด้านทิศตะวันตก ป่าชายเลนด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก บนเกาะเป็นทุ่งหญ้า ป่าเสม็ด และป่าพรุ ชวนให้นึกถึงบรรยากาศของซาฟารีที่ประเทศแอฟริกา มีสัตว์นานาชนิดอาศัยอยู่บนเกาะทำให้ที่นี่มีเสน่ห์เหนือใคร ซึ่งเกาะพระทองนั้นเหมาะสำหรับคนรักการพักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติสวยอย่างเป็นส่วนตัว ความงามทางธรรมชาติบนบกนั้นว่าน่าตื่นตาแล้ว ในขณะที่ใต้น้ำก็งดงามไม่แพ้กัน ชายหาดสวยน้ำทะเลใส ปะการังก็มีให้ชม แถมยังนั่งเรือข้ามไปเที่ยวเกาะระ ที่อยู่ทางด้านทิศเหนือของเกาะพระทองได้อีกหนึ่งต่อด้วย |
อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา |
|
มีพื้นที่ประมาณ 250,000 ไร่ ครอบคลุมอำเภอเมืองพังงา อำเภอตะกั่วทุ่ง และอำเภอเกาะยาว อุทยานฯ แห่งนี้เป็นอุทยานแห่งชาติประเภทชายฝั่งทะเลแห่งที่สองของประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเล และเกาะน้อยใหญ่ มีเขาหินปูนลักษณะต่าง ๆ ที่มีความงามแตกต่างกันไปตามลักษณะของหิน สมบูรณ์ด้วยป่าชายเลน และยังเป็นแหล่งขยายพันธุ์สัตว์น้ำอีกด้วย ช่วงที่เหมาะจะมาท่องเที่ยว คือ เดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน ส่วนเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมเป็นช่วงที่ฝนตกชุก คลื่นลมแรง
สถานที่น่าสนใจภายในเขตอุทยานฯ ได้แก่ เกาะปันหยี เป็นเกาะเล็ก ๆ มีที่ราบประมาณ 1 ไร่ มีบ้านเรือน 200 หลังคาเรือน ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีอาชีพประมง ขายของที่ระลึก และขายอาหารให้แก่นักท่องเที่ยว มีโรงเรียน และสถานีอนามัยอยู่บนเกาะ อีกทั้งยังมีสนามฟุตบอลลอยน้ำที่แรกและที่เดียวในเมืองไทย เป็นอีกจุดหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก, เขาหมาจู อยู่ระหว่างทางผ่านที่จะไปยังเกาะปันหยี เขาหมาจู เป็นภูเขาหินมีลักษณะคล้ายรูปสุนัขแบ่งเป็นส่วนหัว ลำตัวและหางเป็นพู่, เกาะพนัก เป็นเกาะที่สวยงาม มีถ้ำหินงอก หินย้อย และมีแอ่งน้ำตกขนาดเล็กเป็นชั้น ๆ ลดหลั่นกันอยู่ในถ้ำด้วย
เขาพิงกัน เป็นเกาะที่อยู่บนหาด เหตุที่ชื่อนี้เพราะภูเขาหินแตกออกจากกัน หินที่เล็กกว่าเลื่อนลงมา ฐานจมลงไปในดินแยกห่างจากกัน ส่วนด้านบนยังคงพิงกันอยู่ ด้านหลังของเขาพิงกันมีทิวทัศน์ที่สวยงาม มองออกไปในทะเลจะเห็น “เขาตะปู” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เกาะเจมส์บอนด์” มีลักษณะเหมือนตะปู อยู่กลางน้ำ อุทยานฯ เก็บค่าขึ้นเขาพิงกัน ชาวไทย ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 400 บาท เด็ก 200 บาท, เขาเขียน หรือภาพเขียนสี เป็นทางผ่านที่จะไปยังเกาะปันหยี บริเวณหน้าผาจะมีรูปเขียนเป็นภาพสัตว์ชนิดต่าง ๆ สันนิษฐานว่าเป็นภาพวาดโดยนักเดินเรือสมัยโบราณที่แวะมาจอดพักหลบมรสุม ซึ่งกรมศิลปากรได้ทำการ ศึกษาว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี
ถ้ำลอด เป็นภูเขาลักษณะเกาะทะลุ ปากถ้ำกว้างประมาณ 50 เมตร สูง 40 เมตร เรือขนาดเล็กสามารถแล่นผ่านทะลุไปอีกด้านของถ้ำได้ บนเพดานถ้ำมีหินย้อยดูแปลกตา และเกาะห้อง เป็นภูเขาเล็กใหญ่สลับซับซ้อน เมื่อแล่นเรือเข้าไประหว่างเกาะ มองโดยรอบเหมือนอยู่ในห้องโถงใหญ่ที่มีประตู 2 บาน และเป็นแหล่งปะการังที่สวยงาม |
อนุสรณ์สถานสึนามิ เรือ ต.813 |
|
อนุสรณ์สถานสึนามิ เรือ ต.813 ตั้งอยู่ที่หมู่ 5 บ้านบางเนียง ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า ก่อนเกิดเหตุเรือลำนี้เป็นเรือในหน่วยงานกรมตำรวจ เป็นเรือตรวจการณ์ 813 หรือที่คนทั่วไปในนาม ต.813 จุดประสงค์หลักในการปฏิบัติหน้าที่ คือ ถวายความปลอดภัย และรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญทางน้ำ รักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความมั่นคงของรัฐ สิ่งแวดล้อม สืบสวนสอบสวน ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ค้นหาและช่วยเหลือเรืออากาศยาน และผู้ประสบภัยทางน้ำ ประสานงานหรือสนับสนุนปฏิบัติงานของหน่วยงาน กับองค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ก่อนเกินเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ให้เดินทางไปถวายการอารักขาทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ และครอบครัว ที่จังหวัดพังงา จึงออกเดินทางตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2547
ทั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ไปประจำการในเรือทั้งหมด 11 คน โดยมี ร.ต.อ.นิรัตน์ ช่วยจิตต์ เป็นหัวหน้าควบคุมเรือ เรือ ต.813 จอดอยู่ในทะเล บริเวณโรงแรมลาฟลอล่า ห่างจากฝั่งประมาณ 1 ไมล์ทะเล กระทั่งเกิดเหตุการณ์สึนามิ ซัดถล่มชายฝั่งอันดามัน ความแรงของคลื่นซัดพาเรือ ต.813 จากชายฝั่งมาประมาณ 2 กิโลเมตร เมื่อเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ เจ้าหน้าที่ตั้งใจจะกู้เรือ ต.813 กลับหน่วย แต่มีคำสั่งให้คงไว้อย่างนั้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานหรืออนุสาวรีย์ เตือนความทรงจำว่าแรงปะทะของคลื่นสึนามินั้นแค่ไหน เรือ ต.813 หนักถึง 60 ตัน ตอนวิ่งชนคลื่นวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดถึง 20 น็อต ยังสู้แรงปะทะไม่ได้ แถมย้ายเรือห่างจากฝั่งกิโลเมตรเศษข้ามถนน ขึ้นไปอยู่บนเชิงเขาความสูงเท่ายอดมะพร้าว จึงไม่แปลกเลยที่มีผู้สูญเสียไปมากมาย และทำลายชุมชนขนาดย่อม ตึกโรงแรมให้หายไปชั่วไม่กี่นาที และเหตุการณ์ครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานบน เรือ ต.813 เสียชีวิต 1 ท่าน คือ จ่าสิบตำรวจยุทธกร หนูเลขา จากวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 จนถึงทุกวันนี้เรือยังคงอยู่บริเวณเดิมไม่เคลื่อนย้าย และยังคงอยู่ลักษณะเดิม ๆ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานต่อไป |
วนอุทยานสระนางมโนห์รา |
|
ตั้งอยู่ที่ตำบลนบปริง อำเภอเมืองพังงา มีลักษณะเป็นป่าประเภทป่าดงดิบหรือป่าฝน วนอุทยานฯ ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ มีลำธารไหลจากป่าต้นน้ำที่อยู่บนสันเขาผ่านหุบเขาทั้งพื้นที่ราบ และพื้นที่ต่างระดับทำให้เกิดน้ำตกขนาดเล็ก มีไม้ทางเศรษฐกิจ สัตว์ป่า ได้แก่ เลียงผา ลิง ค่าง สถานที่น่าสนใจภายในเขตวนอุทยานฯ ได้แก่ น้ำตกสระนางมโนราห์ ถ้ำเปลือกหอย ถ้ำขี้ค้างคาว ถ้ำแก้ว ภายในวนอุทยานฯ ไม่มีบ้านพัก แต่มีสถานที่กางเต็นท์บริการนักท่องเที่ยว เปิดบริการทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น. |
|
|